วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การเลี้ยงผึ้งโก๋น(ผึ้งโพรงป่า) ตอนที่ 3

ภูมิปัญญาการเลี้ยงผึ้งโก๋น(ผึ้งโพรงป่า) ตอนที่ 3
องค์ความรู้ในการตั้งโก๋นล่อผึ้ง  

Mr.Sawing Khuntasa

                  ในตอนที่แล้วเราได้ทราบประเภทของโก๋นผึ้งตามภูมิปัญญาชุมชนไปแล้วนะครับ ในตอนที่ 3 นี้จะมาเล่าว่าถ้ามีโก๋นผึ้งแล้ว แล้วเราจะเอาผึ้งมาเข้าโก๋นได้อย่างไร ภุูมิปัญญานี้ชุมชนเป็นการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษจากการลองผิดลองถูกมาด้วยตัวเองนะครับ ยังไงก็ลองทัศนาเผื่อสนใจอยากลองไปใช้บ้างก็ได้นะครับ ^_^


                การตั้งโก๋นล่อผึ้งผู้ตั้งต้องมีความเข้าใจลักษณะนิสัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการสร้างรังของผึ้งโก๋น การตั้งโก๋นล่อผึ้งนั้นมีความสำคัญมากเพราะผึ้งจะมาสำรวจก่อนว่าโก๋นนั้นมีสภาพและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการสร้างรังหรือไม่ โดยชุมชนองค์ความรู้ในการตั้งโก๋นล่อผึ้ง ดังนี้
                  -  สภาพแวดล้อมในบริเวณที่ตั้งโก๋น จะต้องมีลักษณะอากาศถ่ายเทได้ดี อยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่หรืออยู่ใต้ชายคาที่ปลอดภัยจากสภาพลมฟ้าอากาศพอสมควร พื้นที่ปราศจากฝุ่นและควันไฟจำนวนมาก ไม่มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงอยู่ในบริเวณนั้นและบริเวณใกล้เคียง และในบริเวณนั้นไม่มีแมลงศัตรูผึ้งอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น แมงมุม มดแดง แมลงสาบ เป็นต้น ถ้ามีแหล่งน้ำอยู่ใกล้เคียงจะเป็นที่สนใจจากผึ้งงานที่มาหารังเป็นพิเศษ เนื่องจากผึ้งชอบพื้นที่อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนมากนัก 
                        -   การตั้งโก๋นผึ้งในพื้นที่ค่อนข้างโล่งแสงแดดส่องถึง และมีแสงจัด ชาวบ้านจะไม่หันรูผึ้งไปในทิศทางเดียวกันกับที่พระอาทิตย์ขึ้นและตก แต่จะหันรูผึ้งไปในทิศตรงข้าม เพราะแสงแดดจะส่องเข้ารังทางรูผึ้ง อุณหภูมิในโก๋นจะสูงซึ่งผึ้งไม่ค่อยชอบ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ชาวบ้านจะนำเศษกระเบื้องหรือเศษแผ่นไม้ มาคลุมไว้ด้านบนโก๋นผึ้งเพื่อป้องกันแสงแดด และรักษาอุณหภูมิในโก๋นไม่ให้สูงเกินไป
                        -  การตั้งโก๋นล่อผึ้ง ถ้าอยู่บริเวณใกล้หน้าผาสูงชันหรือบริเวณบ้านเรือนที่ติดกับภูเขา จะหันรูผึ้งออกที่โล่ง หรือถ้าข้างบ้านเป็นบริเวณที่มืดเกินไป ก็จะไม่ตั้งโก๋นล่อผึ้งบริเวณนั้น เนื่องจากผึ้งจะไม่เข้าไปอาศัย
                  -  เมื่อตั้งโก๋นล่อผึ้งแล้ว ผู้เลี้ยงต้องขยันไปตรวจดูโก๋นที่ตั้งไว้บ่อย ๆ ถ้าผ่านไป 7 - 10 วัน ผึ้งไม่เข้าโก๋น ให้ตรวจดูภายในโก๋นว่ามีแมลงศัตรูเข้าไปอาศัยหรือเปล่า ถ้ามีให้รีบกำจัดและทำความสะอาดใหม่ แต่ถ้าไม่มีแปลว่าพื้นที่นั้นไม่มีผึ้งมาหาที่สร้างโก๋นให้ย้ายไปตั้งล่อในพื้นที่อื่น
                  -  พอผึ้งเข้าโก๋นส่วนใหญ่เจ้าของโก๋นจะจดบันทึกวันที่ผึ้งเข้าโก๋นเพื่อนับเวลาในการเก็บน้ำผึ้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บน้ำผึ้งหลังจากผึ้งเข้ามาทำรังในโก๋นประมาณ 2 - 3 เดือนแล้วแต่ปริมาณผึ้งในรัง







                  การดักผึ้งเข้าโก๋น  

            หรือในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "การยับผึ้งเข้าโก๋น" (การจับผึ้งเข้าโก๋น) เป็นองค์ความรู้เฉพาะบุคคล เน้นความรู้และทักษะในการเลี้ยงผึ้งโก๋นที่สูง และผู้ที่จะทำได้ต้องมีความเข้าใจใน อุปนิสัยของผึ้งโก๋นเป็นอย่างดีด้วย ถึงจะประสบผลสำเร็จในการใช้วิธีนี้ การดักผึ้งเข้าโก๋น เป็นอีกวิธีหนึ่งโดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก พ่ออุ๊ยบุญยืน  ยอดคำปัน ผู้รอบรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งโก๋นและมีประสบการณ์การเลี้ยงผึ้งโก๋นมากว่า 65 ปี เป็นวิธีที่ลองทำแล้วได้ผล วิธีการดังกล่าวเกิดจากการที่พ่ออุ๊ยสังเกตพฤติกรรมและกระบวนการทำงานของผึ้งงานที่กำลังหาโก๋นเพื่อใช้ทำรัง
         ด้วยการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผึ้ง พ่ออุ๊ยบุญยืน พบว่า ผึ้งโก๋นเมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจนที่อยู่อาศัยเดิมคับแคบ จะมีการสร้างนางพญาตัวใหม่เพื่อทำการแยกรัง โดยนางพญาตัวใหม่จะนำผึ้งงานส่วนหนึ่งหรือประมาณครึ่งรังย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ โดยผึ้งงานจะบินเกาะกันเป็นกลุ่มห้อมล้อมนางพญาไว้และบินไปเกาะพักบริเวณต้นไม้ไม่สูงมากนัก จากนั้นผึ้งจะแบ่งทีมออกเป็นหลาย ๆ ทีมเพื่อหาที่อยู่โดยทีมหนึ่งอาจจะมีผึ้งงานที่ไปหาทำเลที่ตั้งโก๋นผึ้งประมาณ 100 - 200 ตัว แต่ละทีมจะแบ่งเป็นทีมย่อยประมาณ 20 - 30 ตัวกระจายไปหาที่สร้างรัง โดยพฤติกรรมในการหารังถ้าผึ้งกำลังค้นหาพื้นที่ที่จะสร้างรัง  ผึ้งจะบินอยู่ในระดับสูง ขาห้อยลงมาและชอบบินไปเกาะบริเวณก้อนหิน ฝาบ้านหรือบริเวณโคนไม้  แต่ถ้าผึ้งออกหาน้ำหวานและเกสรดอกไม้มักจะบินอยู่ในระดับต่ำและชอบเกาะบริเวณดอกไม้เป็นหลัก ไม่ชอบบินไปเกาะในบริเวณอื่น ๆ ที่มิใช่ดอกไม้ หรือแหล่งน้ำ  ถ้าผึ้งงานเจอพื้นที่ที่จะสามารถทำรังได้ก็จะลงไปสำรวจตรงบริเวณนั้นโดยรอบ  ถ้าเห็นว่าพื้นที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับการสร้างรังผึ้งงานก็จะบินจากไป และอีกประมาณ  4 – 5 นาที ก็จะพาพรรคพวกมาพื้นที่ที่สำรวจในเบื้องต้น โดยจะบินมาด้วยกัน 4 - 5 ตัว และจะมีการเกาะสำรวจและเดินรอบ ๆ พื้นที่ โดยจะใช้เวลาในการสำรวจประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วจึงพากันบินจากไป  ถ้าเห็นว่าเหมาะสมผึ้งงานจะพาพรรคพวกมาสำรวจร่วมกันอีกประมาณ  200  -  300  ตัว  เพื่อเข้าสำรวจบริเวณที่จะทำรัง  โดยใช้เวลาในการสำรวจในรอบที่สามนี้อีกประมาณครึ่งชั่วโมง   ถ้าผึ้งพอใจในรังใหม่ก็จะพากันบินกลับไปแล้วกลับมาพร้อมกับนางพญาผึ้งและผึ้งงานฝูงใหญ่มาเพื่อสร้างรังต่อไป



         การดักผึ้งเข้าโก๋นทำได้ไม่ยาก หลักสำคัญผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องสังเกตว่าผึ้งที่หาโก๋นอยู่บริเวณพื้นที่ที่ตั้งโก๋นหรือไม่ เมื่อพบผึ้งงานที่มีพฤติกรรมในการหาที่ทำรัง ชาวบ้านจะนำผ้าขาวม้าหรือถุงพลาสติก ค่อย ๆ ครอบหรือคลุมเอาผึ้งงานตัวนั้นมาปล่อยในโก๋นที่ต้องการให้ผึ้งเข้ามาทำรัง จากนั้นนำเศษผ้าหรือใบไม้แห้งมาปิดรูผึ้ง ไว้ประมาณ 5 - 10 นาที แล้วเปิดรูผึ้งออก ถ้าผึ้งงานที่ทำการสำรวจหาโก๋นเห็นว่าโก๋นดังกล่าวน่าอยู่ ก็จะบินกลับไปนำฝูงผึ้งอื่น ๆ เข้ามาสร้างรังในโก๋นนั้น หลังจากผึ้งเข้ามาอาศัยในโก๋นแล้วเมื่อทำการย้ายโก๋นไปเลี้ยงที่บ้านหรือที่อื่น ข้อพึงระวังการย้ายโก๋นผึ้ง จะทำได้หลังจากวันที่ผึ้งเข้าอาศัยแล้วไม่เกิน 3 - 5 วัน เนื่องจากผึ้งจะเริ่มสร้างรังที่ใหญ่ขึ้นการเคลื่อนย้ายอาจทำให้รังผึ้งเสียหายและตกจากรวง ทำให้ผึ้งย้ายรังหนีได้  



    โทษทีนะครับรอบนี้วิชาการ ตัวหนังสือมากไปหน่อย รอบหน้าจะเอารูปมาฝากเยอะ ๆ นะครับ อิอิอิ.......

แหล่งข้อมูล: 1.เครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งโก๋นแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด - อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
                     2.โครงการหมู่บ้านพิทักษ์ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่
                

ไม่มีความคิดเห็น: