วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

การเลี้ยงผึ้งโก๋น(ผึ้งโพรงป่า) ตอนที่ 5

การเลี้ยงผึ้งโก๋น(ผึ้งโพรงป่า)
ตอนที่ 5 การเก็บน้ำผึ้ง

Mr.Sawing khuntasa

                มนุษย์เรามีการใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งนับมาเป็นพัน ๆ ปีแล้วนะครับ ดังหลักฐานกล่าวไว้ในหลาย ๆ ตำรา แต่อย่างไรก็ดี การเก็บน้ำผึ้งเป็นส่วนสำคัญที่บ่งบอกว่า เราจะสามารถบริโภคน้ำผึ้งที่สะอาด ปลอดภัย ได้อย่างไร  ในตอนการเก็บน้ำผึ้ง เผอิญผมผมเดินในป่าและได้ลงที่หมู่บ้านหนึ่งและได้เห็นพอดีเลยเอามาฝากกันนะครับ ว่าเค้าเก็บน้ำผึ้งกันอย่างไร                      

                รังผึ้งรวงหนึ่งจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ด้านบนสุดของรวงเป็นที่เก็บน้ำผึ้งสำหรับเป็นอาหารของตัวอ่อนและผึ้งเองผึ้งจะเก็บน้ำหวานจากดอกไม้แล้วนำมาสะสมบริเวณเซลล์แต่ละเซลล์แล้วนำยางไม้มาปิดมิให้น้ำผึ้งไหลออกจากรวง        ชั้นต่อมาเป็นชั้นติดกับน้ำผึ้งแต่อยู่ด้านล่างเป็นชั้นที่เก็บขี้ผึ้งมีลักษณะสีดำคล้ำ และบริเวณที่เป็นช่องหรือเซลล์ที่อยู่ของตัวอ่อนและนางพญา ในอดีตการเก็บน้ำผึ้งโก๋นจะเก็บน้ำผึ้งในเวลากลางคืน เพื่อป้องกันมิให้ผึ้งเห็นผู้ที่มาเอารังและไม่สามารถที่จะบินมาต่อยได้ โดยผู้เก็บจะต้องถอดเสื้อผ้าให้หมดเพื่อไม่ให้มีซอกหรือหลืบสำหรับหนีบผึ้งได้ แต่เป็นวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยาก จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะการเก็บน้ำผึ้งตอนกลางคืน มีข้อเสียคือตอนกลางคืนมักจะมีน้ำค้างมาก เมื่อเก็บน้ำผึ้งมักจะมีความชื้นปนอยู่ในน้ำผึ้งค่อนข้างมาก และเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมตกลงไปในน้ำผึ้งผู้เก็บมักไม่ค่อยเห็นและการทำให้สะอาดในการเก็บก็ทำได้ยากกว่าเก็บตอนกลางวันมาก  ต่อมาจึงมีการพัฒนาการเก็บน้ำผึ้งในตอนกลางวันและใส่ชุดป้องกันให้มิดชิดเพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันผึ้งต่อย ดังนั้นวิธีการเก็บน้ำผึ้งที่พบในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มี 2 วิธีด้วยกัน ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้




                  1.  การเก็บน้ำผึ้งแบบดั้งเดิม  ปัจจุบันไม่พบวิธีการเก็บนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงแล้ว เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่เป็นที่ยอมรับด้านความสะอาดและน่ารับประทาน แต่ยังสามารถพบวิธีการเก็บแบบนี้ได้โดยทั่วไปในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วทั้งภาคเหนือ วิธีการเก็บน้ำผึ้งแบบดั้งเดิมนั้น พอผู้เก็บน้ำผึ้งได้รังผึ้งมาและตัดเอาส่วนรังที่มีน้ำผึ้งมาแล้ว ผู้เก็บจะใช้ผ้าขาวบางมาห่อรังผึ้งและใช้มือนั้นบีบรังผึ้งให้น้ำผึ้งไหลออกจากรังลงในถังหรือภาชนะที่เก็บไว้ พอบีบหมดแล้ว จึงนำผ้าขาวบางมากรองเอาสิ่งเจือปนและสารแขวนลอยออก แล้วนำน้ำผึ้งไปบรรจุขวด ส่วนใหญ่จะใช้ขวดเหล้าแสงโสมหรือชนิดอื่น ๆขนาด 700 มิลลิลิตรเพื่อจำหน่ายต่อไป   การเก็บน้ำผึ้งแบบดั้งเดิมมีข้อดีคือ สามารถเก็บและบีบน้ำผึ้งไปจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียหลายประการ ทั้งในด้านความสะอาด การมีเศษรังเจือปนอยู่ในน้ำผึ้งค่อนข้างมาก น้ำผึ้งเมื่อปล่อยทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งมักจะขึ้นเกล็ดและมีเศษ ขี้ผึ้ง ไข่ผึ้ง ไหลขึ้นมา บางครั้งพบว่าน้ำผึ้งมีการบูดเนื่องจากในน้ำผึ้งมีน้ำ และไข่ผึ้งผสมมากเกินไป










                   2. การเก็บน้ำผึ้งด้วยวิธีแขวนหยด  หมายถึง การเก็บน้ำผึ้งโดยไม่ใช้วิธีการบีบด้วยมือแต่นำรังผึ้งไปใส่ในผ้าขาวบางหรือวัสดุกรองอื่น ๆ แล้วปล่อยให้น้ำผึ้งหยดลงมาใส่ภาชนะที่เตรียมไว้เอง วิธีการนี้ นายสนั่น  พวงคำไหล นักวิชาการกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งโก๋นบ้านปางกำแพงหิน เป็นผู้ที่คิดค้นวิธีนี้เป็นคนแรก โดยได้มีการทดลองทำครั้งแรกประมาณ เดือนเมษายน พ.ศ.2548  แนวคิดนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญจากการที่ นายสนั่นกำลังนั่งล้อมกับญาติ ๆ ดื่มเหล้าน้ำขาว(สาโท) ฉลองในช่วงวันปีใหม่สงกรานต์ในปีนั้น เนื่องจากเหล้าน้ำขาวจะต้องหมักกับข้าวเหนียวและเวลาจะดื่มต้องตักเหล้าน้ำขาวจากถังขึ้นมาดื่มซึ่งจะมีเศษข้าวติดมาด้วย เพื่อให้ได้เหล้าน้ำขาวที่สะอาดชาวบ้านก็เลยนำข้าวไปหมักโดยใช้ถุงผ้าหรือถุงปุ๋ยที่ล้างสะอาดแล้วหุ้มไว้และหมักไว้ในถัง พอจะดื่มก็ยกถุงขึ้นน้ำเหล้าก็จะไหลผ่านถุงผ้าลงมาโดยไม่มีเศษข้าวหรือสิ่งอื่นใดติดมาด้วย ระหว่างนั่งดื่มอยู่นั้นนายสนั่นก็ยกถุงเหล้าขึ้น ๆ ลง ๆ หลายรอบ โดยยกทุกครั้งก็จะได้เหล้าน้ำขาวที่มีสีสวยและใสกว่าการตักแบบเดิม จึงมีความคิดว่าถ้าลองไปใช้ในการเก็บน้ำผึ้งก็คงดี อาจจะได้น้ำผึ้งที่มีสีสวยและไม่ขึ้นเกล็ดก็ได้ พอคิดได้ ในช่วงปลายเดือนเมษายน นายสนั่น ได้ทดลองนำรังผึ้งมาห้อยในบ้านตนเอง ปรากฏว่าได้น้ำผึ้งที่สีสวย ใสและสะอาดขึ้นเป็นอันมาก ในเวลาต่อมาความรู้ดังกล่าวได้ถูกนำมาเผยแพร่ภายในกลุ่มอย่างรวดเร็วและเป็นที่ยอมรับของชุมชนในหมู่บ้านปางกำแพงหิน  ในปี พ.ศ.2549 โครงการหมู่บ้านพิทักษ์ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญขององค์ความรู้ดังกล่าว จึงได้นำนายสนั่น พวงคำไหลและนายอินเดช ขัติรส ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งโก๋นบ้านปางกำแพงหิน เดินทางไปสอนภูมิปัญญาการเลี้ยงผึ้งและวิธีการเก็บน้ำผึ้งแบบแขวนหยดให้กับสมาชิกกลุ่มผึ้งในพื้นที่หมู่บ้านต่าง ๆ จนวิธีการเก็บน้ำผึ้งแบบแขวนหยดเป็นที่ยอมรับ หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันทุกชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงจึงได้นำวิธีดังกล่าวไปใช้ในการเก็บน้ำผึ้งอย่างแพร่หลายและมีการพัฒนาวิธีการเก็บให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ 










ไม่มีความคิดเห็น: