วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การศึกษาเปรียบเทียบการขยายพันธุ์ต้นลิงลาววิธีธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

   การศึกษาเปรียบเทียบการขยายพันธุ์ต้นลิงลาววิธีแบบธรรมชาติ
และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ดร.จิราภรณ์  ปาลี
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

            ตามปกติเมล็ดลิงลาวเมื่อหล่นจากต้นธรรมชาติจะใช้ระยะเวลานานมากในการงอกบางครั้งอาจจะใช้เวลาที่ตกลงพื้นดินมากกว่า 1 ปีกว่าที่จะงอกได้เนื่องจากต้องรอให้เปลือกที่ห่อเมล็ดย่อยสลายและเนื้อหุ้มเมล็ดมีความอ่อนนุ่ม ทำให้ต้นอ่อนสามารถงอกได้ การเร่งการงอกของเมล็ดลิงลาวจึงเป็นวิธีที่ชุมชนพยายามลองผิดลองถูกและทำมาตลอด การศึกษาการเพาะเมล็ดตามธรรมชาติ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ดลิงลาวด้วยวิธีดั้งเดิม และการเพาะเมล็ดลิงลาววิธีการแช่น้ำอุ่นก่อนเพาะ เป็นการศึกษาเปรียบเทียบและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างชุมชนและทีมวิจัยเพื่อนำไปขยายผลต่อในอนาคต โดยมีรายละเอียดการศึกษา ดังนี้

1.การเพาะเมล็ดลิงลาวด้วยวิธีดั้งเดิม
     การเพาะเมล็ดต้นลิงลาวเป็นวิธีการที่ชุมชนในพื้นที่เริ่มใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วคือประมาณ ช่วง 5 – 10 ปี ที่ผ่านมา มีการพบการเพาะอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ชุมชนมีความสนใจในต้นลิงลาวเพิ่มมากขึ้นหลังจากได้ร่วมศึกษาและพัฒนาความรู้ร่วมกันกับสถาบันความหลากหลายทางชีวภาพฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยดำเนินกิจกรรมร่วมกันในโครงการวิจัย “การศึกษาศักยภาพทางเศรษฐกิจของต้นลิงลาว” ของคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จากการทดลองนำเมล็ดต้นลิงลาวไปเพาะขยายพันธุ์ในกระบะทรายด้วยวิธีดั้งเดิมทั่วไปโดยทีมวิจัยชุมชน พบว่า ซึ่งถ้านำเมล็ดจากผลไปเพาะจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 5  เดือน และจากการทดลองเพาะเมล็ดจำนวน 200 เมล็ด พบอัตราการงอกสูงประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดบางส่วนไม่มีการงอกหรือไม่ก็เกิดการเน่าเสียระหว่างการเพาะ  โดยต้นลิงลาวที่อายุประมาณ 12 เดือนจะมีความสูงประมาณ 25.64  เซนติเมตร มีจำนวนรากต่อต้นประมาณ 6.80 ราก จำนวนใบประมาณ 3.60  ใบต่อต้น  ซึ่งยังไม่เหมาะกับการเอาไปปลูกขยายพันธุ์และเมื่อเลี้ยงต่อเนื่องพบว่าต้นลิงลาวมีอัตรากาเจริญเติบโตจนสามารถนำไปปลูกขยายพันธุ์ได้ในช่วงอายุ 16 – 18 เดือน อัตราการงอกของเมล็ดลิงลาวด้วยวิธีดั้งเดิมสามารถสรุปได้ดัง ดังข้อมูลตามตารางที่ 1 ดังนี้

ตารางที่ ข้อมูลสรุปการงอกของเมล็ดต้นลิงลาวด้วยวิธีดั้งเดิมโดยเฉลี่ย
ระยะเวลา
(เดือน)
จำนวนราก
(รากต่อต้น)
ความยาวรากเฉลี่ย
(ซม.)
ความสูง
(ซม.)
จำนวนใบ
(ใบต่อต้น)
1
0.00
0.00
0.00
0.00
2
0.00
0.00
0.00
0.00
3
0.00
0.00
0.00
0.00
4
0.00
0.00
0.00
0.00
5
1.74
3.12
3.50
1.00
6
2.35
4.22
3.74
1.00
7
2.55
4.75
15.14
1.40
8
3.52
5.94
16.84
2.00
9
4.60
6.84
18.82
2.80
10
5.20
7.25
20.43
2.20
11
5.50
7.68
23.56
3.40
12
6.80
8.65
25.64
3.60

          จะเห็นได้ว่าต้นลิงลาวจากข้อมูลดังตารางที่ 1 มีการงอกที่เร็วกว่าปล่อยให้ขยายพันธุ์ในธรรมชาติและก็ยังช้ามากหากเทียบกับการขยายพันธุ์โดยวิธีการแยกกอและแยกเหง้าซึ่งถึงแม้จะได้ปริมาณที่น้อยและมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วกว่า จากการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างทีมวิจัยชุมชนและทีมวิจัยเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เมล็ดลิงลาวมีการใช้เวลาในการงอกยาวนานนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากเมล็ดลิงลาวเมื่อแก่จัดมีความแข็งค่อนข้างมากเมื่อนำไปเพาะจะใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่น้ำจะทำให้เนื้อหุ้มเมล็ดลิงลาวเกิดการอ่อนตัวจนสามารถทำให้เกิดการงอกได้และอาจจะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตของต้นกล้าใช้เวลายาวนานเพิ่มตามระยะเวลาการงอก ดังนั้น ซึ่งการเพาะด้วยวิธีนี้ ชุมชนมักจะไม่เพาะในกระบะทรายมากนักแต่จะนำเมล็ดไปหว่านในแปลงดินในพื้นที่ทำกินหรือรอบบ้านเรือนเลยและค่อย ๆ ปล่อยให้งอกตามธรรมชาติโดยไม่ต้องไปดูแลมาก






          1.1 การเพาะเมล็ดลิงลาววิธีการแช่น้ำอุ่นก่อนเพาะ
       ในการทดลองการเพาะขยายพันธุ์จากเมล็ดต้นลิงลาววิธีใหม่นี้ นายสนั่น พวงคำไหล ทีมวิจัยชุมชนบ้านปางกำแพงหิน หมู่ที่ 8 ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์การเพาะขยายพันธุ์ต้นลิงลาวทุกวิธีมาไม่น้อยกว่า 10 ปี ได้สรุปบทเรียนจากการทดลองเพาะเมล็ดต้นลิงลาวด้วยวิธีดั้งเดิม   ทำให้ได้พบว่า สาเหตุที่ต้นลิงลาวงอกจากเมล็ดช้าน่าจะเกิดจากเปลือกหุ้มที่แข็งเกินไปทำให้การงอกเป็นไปอย่างช้า ๆ ถ้าทำให้เนื้อหุ้มเมล็ดลิงลาวเกิดการอ่อนตัวสามารถเร่งการงอกของต้นลิงลาวได้ดีกว่าวิธีการเพาะตามปกติที่มีการเพาะกันโดยทั่วไปในพื้นที่ ซึ่งการทดลองนี้ ได้ดำเนินการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ต้นลิงลาวมาจำนวน 200 เมล็ด แล้วนำมาแช่ในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิประมาณ 50 – 80 องศาเซลเซียส(หรือเมื่อนำมือจุ่มลงในน้ำมีความรู้สึกร้อนแต่ไม่ร้อนเกินไปจนทนไม่ได้) เป็นระยะเวลา 1 คืน จากนั้นก็นำเมล็ดที่ผ่านการแช่น้ำอุ่นมาเพาะด้วยวิธีการปกติ โดยเพาะใส่กระถางกระถางละ 20 เมล็ด จำนวน 10 กระถาง พบว่าเมล็ดลิงลาวสามารถงอกขึ้นภายในเดือนที่ 2 โดยมีการงอกทั้งหมดจำนวน 168 เมล็ด หรือ 84 เปอร์เช็นต์ของเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นอัตราการงอกที่สูงกว่าวิธีเดิมและงอกเร็วกว่าวิธีเดิมถึง 3 เดือน และเมื่อเลี้ยงต่อเนื่องยังพบว่าต้นลิงลาวมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและสมบูรณ์สามารถนำไปปลูกขยายพันธุ์ได้ในช่วงอายุ 8 – 12 เดือน โดยมีความสูงเฉลี่ยอยู่ในช่วง 32.6 61.6 ซม. จำนวนใบประมาณ 4 – 8 ใบต่อต้น และจำนวนรากประมาณ 6 – 14 รากต่อต้น

ตารางที่ 2 ข้อมูลสรุปการงอกของเมล็ดต้นลิงลาววิธีการแช่น้ำอุ่นก่อนเพาะ
ระยะเวลา
(เดือน)
จำนวนราก
(รากต่อต้น)
ความยาวรากเฉลี่ย
(ซม.)
ความสูง
(ซม.)
จำนวนใบ
(ใบต่อต้น)
1
0.00
0.00
0.00
0.00
2
2.40
4.31
3.14
1.00
3
2.80
6.06
6.38
1.00
4
3.20
4.99
21.14
1.40
5
4.40
5.94
17.84
2.00
6
5.60
8.64
31.30
3.80
7
5.20
10.10
21.76
3.20
8
8.20
9.68
33.70
4.40
9
6.80
8.73
32.60
4.60
10
8.40
8.04
33.80
4.40
11
10.20
10.25
61.60
8.60
12
14.40
12.08
55.72
6.40 





 2.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 
             2.1 การทดลองการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้เมล็ดแก่
                  จากการทดลองหาวิธีการฟอกฆ่าเชื้อเมล็ดลิงลาวที่เหมาะสม พบว่า เปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนจะสูงสุด 70% เมื่อทำการฟอกฆ่าเชื้อเมล็ดลิงลาวด้วยวิธีที่ 1 คือ การฟอกด้วยสารละลายไฮเตอร์ ความเข้มข้น 20% เขย่านาน 20 นาที  โดยจะพบการปนเปื้อนทั้งจากเชื้อราและแบคทีเรีย ขณะที่การฟอกฆ่าเชื้อด้วยวิธีที่ 5 (การฟอกด้วยสารละลายไฮเตอร์ ความเข้มข้น 20% นาน 20 นาที ล้างด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง จากนั้นแช่ใน 95% แอลกอฮอล์ นาน 20 นาที) จะพบเปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนจากเชื้อราและแบคทีเรียเพียง 10% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการฟอกฆ่าเชื้อที่เหมาะสมนั้นนอกจากจะพิจารณาจากเปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนแล้ว ยังต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอัตราการงอกของเมล็ดด้วย โดยจากการทดลองพบว่า อัตราการงอกของเมล็ดลิงลาวจะสูงสุดในชุดการทดลองที่ฟอกฆ่าเชื้อด้วยวิธีที่ 2 (การฟอกด้วยสารละลายไฮเตอร์ ความเข้มข้น 20% นาน 20 นาที ล้างด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง จากนั้นแช่ใน 95% แอลกอฮอล์ นาน 5 นาที) รองลงมาคือ การฟอกฆ่าเชื้อเมล็ดด้วยวิธีที่ 3 (การฟอกด้วยสารละลายไฮเตอร์ ความเข้มข้น 20% นาน 20 นาที ล้างด้วยน้ำกลั่นที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง จากนั้นแช่ใน 95% แอลกอฮอล์ นาน 10 นาที) โดยมีอัตราการงอกสูงถึง 66.67% และ 50.00% ตามลำดับ ขณะที่การฟอกฆ่าเชื้อเมล็ดด้วยวิธีที่ 5 ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนต่ำสุดนั้นกลับไม่พบการงอกของเมล็ดลิงลาวเลย ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อของเอ็มบริโอที่อยู่ภายในเมล็ดถูกทำลายอันเนื่องมาจากการแช่เมล็ดใน 95% แอลกอฮอล์ นานเกินไป (25 นาที)  

ตารางที่ 17 เปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนและอัตราการงอกของเมล็ดลิงลาวเมื่อฟอกฆ่าเชื้อ 5 วิธี      
วิธีการฟอกฆ่าเชื้อ
การปนเปื้อน (%)
อัตราการงอก
วิธีที่ 1
70%
33.33%
วิธีที่ 2
40%
66.67%
วิธีที่ 3
40%
50.00%
วิธีที่ 4
30%
28.57%
วิธีที่ 5
10%
0.00%

             2.2 การทดลองการเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอ
                   จากการเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอที่ได้จากผลอ่อนลิงลาวในอาหารวุ้นสูตร MS เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าเอ็มบริโอที่เพาะเลี้ยงไว้เริ่มมีการพัฒนา หรือมีอัตราการงอก 100% โดยสามารถดูได้จากขนาดที่ใหญ่ขึ้น และความยาวเพิ่มขึ้น (ดังรูป) และเมื่อเลี้ยงเอ็มบริโอต่อเนื่องนาน 2 เดือน พบว่าเอ็มบริโอที่เพาะเลี้ยงสามารถพัฒนาเป็นต้นที่สมบูรณ์ที่มีทั้งยอดและรากได้

            2.3 การทดลองการศึกษาการชักนำให้เกิดยอดจำนวนมาก
                   จากการเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอลิงลาวบนอาหารวุ้นสูตร MS ที่ไม่เติม และเติม BA ที่ความเข้มข้น 0.5, 1.0, 2.0, 3.0 และ 4.0 มก/ล เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าเอ็มบริโอที่เพาะเลี้ยงในอาหารทุกๆ สูตร สามารถเจริญและพัฒนาเกิดเป็นยอดได้ 100% โดยอาหารวุ้น MS ที่เติม BA 0.5 มก/ล จะมีจำนวนยอดเฉลี่ยสูงสุด 4.0 ยอดต่อชิ้นเนื้อเยื่อ (ตารางที่ 6) รองลงมาคือ อาหารวุ้นสูตร MS ที่ไม่เติม BA โดยให้จำนวนยอดเฉลี่ย 1.5 ยอดต่อชิ้นเนื้อเยื่อ ขณะที่อาหาร MS ที่เติม BA ที่ความเข้มข้น 1.0 – 4.0 มก/ล จะให้จำนวนยอดเฉลี่ยเพียง 1.0 ยอดต่อชิ้นเนื้อเยื่อเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าในอาหารทุกๆ สูตร ทั้งที่เติมและไม่เติม BA สามารถชักนำให้เอ็มบริโอเกิดรากได้ 100% อีกด้วย โดยอาหารวุ้น MS ที่ไม่เติม BA จะให้จำนวนรากเฉลี่ยต่อชิ้นเนื้อเยื่อสูงสุด 2.5 ราก รองลงมาคือ อาหารวุ้น MS ที่เติม BA 0.5 มก/ล โดยให้จำนวนรากเฉลี่ย 2.0 รากต่อชิ้นเนื้อเยื่อ ขณะที่อาหารที่เติม BA ที่ความเข้มข้น 1.0 – 4.0 มก/ล พบเพียง 1.0 รากต่อชิ้นเนื้อเยื่อเท่านั้น





ตารางที่ 3 เปอร์เซ็นต์การเกิดยอดและราก จำนวนยอดและรากเฉลี่ยต่อชิ้นเนื้อเยื่อ เมื่อเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอบนอาหารสูตร MS ที่เติม BA ที่ความเข้มข้นต่างๆ เป็นเวลา 8 สัปดาห์
ความเข้มข้นของ BA (มก/ล)
เปอร์เซ็นต์การเกิดยอด
จำนวนยอดเฉลี่ยต่อชิ้นเนื้อเยื่อ
เปอร์เซ็นต์การเกิดราก
จำนวนรากเฉลี่ยต่อชิ้นเนื้อเยื่อ
0
100%
1.5
100%
2.5
0.5
100%
4.0
100%
2.0
1
100%
1.0
100%
1.0
2
100%
1.0
100%
1.0
3
100%
1.0
100%
1.0
4
100%
1.0
100%
1.0





ที่มา:โครงการศึกษาศักยภาพต้นลิงลาวในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชน(สวิง ขันทะสา,วัฒนา ปัญญามณีศร,ดร.จิราภรณ์ ปาลี,ดร.ณัฐติยา ชัยชนะ, สถาบันความหลากหลายฯ และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย)

โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก: โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา



ไม่มีความคิดเห็น: